นางกวัก เป็นเทพีแห่งโชคลาภ ตามคติไทย ถือเป็นของขลังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ทำเป็นรูปหญิงสวมเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับอย่างธรรมเนียมไทย นั่งพับเพียบ มือซ้ายวางลงแตะข้างลำตัว หรือวางบนตัก ส่วนมือขวายกขึ้นระดับไหล่ทำท่ากวักมือ หรือเรียกเข้ามาหา เชื่อว่าเทพีองค์นี้ จะกวักมือเรียกทรัพย์ เป็นที่นับถืออย่างยิ่ง ในหมู่พ่อค้าแม่ขายชาวไทย เพราะถือว่าเทพีองค์นี้จะเรียกลูกค้าเข้ามาอุดหนุนสินค้าในร้าน
|
ประวัติ |
ตามตำราโบราณว่ากันว่า นางกวักเป็นบุตรีของปู่เจ้าเขาเขียว หรือท้าวพนัสบดี ซึ่งเป็น เจ้าชั้นจาตุมมหาราชิกา คือสวรรค์ชั้นที่หนึ่ง มีตำแหน่งเป็นพระพนัสบดีคือเจ้าแห่งป่าเขาลำเนาไพรทั้งปวง
|
ครั้งนั้นมีสูรตนหนึ่งชื่อ ท้าวกกขนาก ซึ่งเป็นเพื่อนกับ ปู่เจ้าเขาเขียว ถูกพระรามเอาต้นกกแผลงไปถูกทรวงอกแล้วตรึงร่างไปติดเขาพระสุเมรุแล้วสาปว่าตราปใดที่บุตรของท้าวกกขนากทอใยบัวเป็นจีวรเพื่อถวายแด่พระศรีอาริยเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้แล้วจึงจะพ้นคำสาป
|
ดังนั้น นางประจันต์ บุตรสาวของท้าวกกขนากจึงต้องคอยอยู่ปฏิบัติบิดา และพยายามทอจีวรด้วยใยบัวเพื่อให้เสร็จทันถวายพระศรีอาริยเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้ในอนาคต เมื่อบุตรสาวของท้าวกกขนากมาคอยดูแลพระบิดาที่เขาพระสุเมรุนั้นทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของนางลำบากยิ่งนัก
|
ฝ่ายปู่เจ้าเขาเขียว เมื่อทราบเรื่องจึงได้เกิดความสงสาร ก็เลยส่งนางกวัก บุตรสาวตนมาอยู่เป็นเพื่อน ด้วยบุญญฤทธิ์ของนางกวักจึงได้บันดาลให้พ่อค้าวานิช และผู้คนเกิดความสงสารเมตตาพากันเอาทรัพย์สินเงินทองทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคมาให้ยังที่พักของนางประจันต์เป็นจำนวนมากทำให้ความเป็นอยู่ของนางประจันต์มีความสมบูรณ์พูนสุขและเจริญด้วยลาภทั้งปวง
|
คติการนับถือนางกวักพัฒนาขึ้นจากการนับถือผีผู้หญิงของคนไทย ซึ่งนับถือเพศหญิงเป็นใหญ่ เช่นคติการนับถือแม่โพสพ กล่าวคือนางกวักคือ ผีที่พัฒนาเป็นเทพที่คอยกวักเงินกวักทองมาให้ ปรากฏการหล่อปั้นนางกวักครั้งแรก ราวยุคกรุงศรีอยุธยา โดยมากพบเป็นขนาดบูชา สร้างจากเนื้อโลหะ, ดินเผา หรือสลักจากไม้
|
ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์คติการนับถือนางกวักปรากฏชัดเจนขึ้นในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่สยามมีเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีการขยายตัวของกิจการร้านในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ ๆ นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่นยังมีการนับถือแมวกวักหรือมาเนกิเนโกะ โดยแมวกวักเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2395 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟู
|
|
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (๓ จบ) |
โอมปู่เจ้าเขาเขียว มีลูกสาวคนเดียว ชื่อว่า แม่นางกวัก |
หญิงเห็นหญิงรัก ชายเห็นชายรัก อยู่ทุกถ้วนหน้า |
เอหิมามะมะ อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ |
จะค้าขาย ก็ขอให้เป็นเศรษฐี หนึ่งปีให้เป็นพ่อค้าสำเภาทอง จะค้าเงินขอให้เงินเข้ามากอง |
จะค้าทอง ขอให้ไหลมา เทมาเต็มบ้านเต็มเรือน จะค้าขายสิ่งหนึ่งประการใด |
ขอให้ซื้อง่ายขายคล่อง ขอให้ซื้อง่ายขายดี ขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี |
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ นะมะอะอุ นะชาลีติ |
อิกะวิติ พุทธะสังมิ ทุสะมะนิ อิธะคะมะ จะพะกะสะ |
นาสังสิโม สุมะโมโล นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ |
นะเมตตา โมขายดี พุทธไม่ต่อ ธาซื้อดี ยะใจดี มิใจอ่อน |
รักพุทโธ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง |
สิทธิโภคา สิทธิพะลา สิทธิจะมหาเดชา นะชาลีติ |
เอหิจงมา พุทธะสังมิ นิมามะมามา |
มาช่วยกันค้า มาช่วยกันขาย กวักเอาเงินมา กวักเอาทองมา |
กวักเอาโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองข้าวของ หน้าที่การงาน ผู้คน ชื่อเสียงเกียรติยศ |
ข้าทาสหญิงชายมา มาด้วยนะโมพุทธายะ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง |
พุทธัง ขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี |
ธัมมัง ขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี |
สังฆัง ขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี |
เตชะสุเนมะภูจะนาวิเวอิติ นะเยปะรังยุตเต |
ขอจงนำเอาโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองข้าวของ มาสู่ในสถานที่นี้ด้วย เทอญ |
พุทธังรักษา ธัมมังรักษา สังฆังรักษา พุทธังคุ้ม ธัมมังคุ้ม สังฆังคุ้ม |
เอหิพุทธานุภาเวนะ เอหิธัมมานุภาเวนะ เอหิสังฆานุภาเวนะ |
อายุ วรรโณ สุขัง พลัง |
|